ข่าวประชาสัมพันธ์

สทน. ร่วมกับ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดการประชุมเรื่อง โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้เทคโนโลยี Small Modular Reactor หรือ Foundational Infrastructure for Responsible Use of SMR Technology (FIRST) ในรูปแบบออนไลน์

19 กรกฎาคม 2565

          ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 สทน. ร่วมกับ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดการประชุมเรื่อง โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้เทคโนโลยี Small Modular Reactor หรือ Foundational Infrastructure for Responsible Use of SMR Technology (FIRST) ในรูปแบบออนไลน์ และได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุม

          การประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ FIRST ของสหรัฐอเมริกา และเพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ได้หารือถึงความต้องการในการเข้าร่วมโครงการ FIRST ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการสร้างขีดความสามารถ และช่วยประเทศคู่เจรจาของสหรัฐอเมริกาในด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาทางเลือกของการใช้เทคโนโลยี Small Modular Reactors (SMRs) เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต โครงการ FIRST จะสนับสนุนให้ประเทศที่เข้าร่วมโครงการให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าได้อย่างมีความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และมีมาตรฐานด้านการพิทักษ์ความปลอดภัยอย่างสูงสุด

         โดย Small Modular Reactors (SMRs) หรือ เครื่องปฏิกรณ์แบบแยกส่วนขนาดเล็ก เป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันที่มีขนาดเล็กกว่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบทั่วไป ออกแบบโดยคำนึงถึงความเป็นรูปแบบโมดูลสำเร็จรูป และโดยทั่วไปแล้วจะมีกำลังไฟฟ้าออกน้อยกว่า 300 MW หรือกำลังไฟฟ้าความร้อนที่ส่งออกน้อยกว่า 1,000 MW ซึ่งถือเป็นประมาณหนึ่งในสามของกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แบบปกติ ซึ่งการเลือกใช้เทคโนโลยี SMR มีผลดีในแง่การประหยัดงบประมาณการก่อสร้าง ติดตั้งง่าย มีความปลอดภัยสูง สามารถติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล

       ในการนี้ ฝ่ายไทยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และ สทน. การประชุมฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีให้หน่วยงานในประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว และเพื่อต่อยอดการเจรจาหารือในรายละเอียดต่อไป