ข่าวประชาสัมพันธ์

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ แถลงความสำเร็จในการผลิตพลังงานฟิวชัน ได้สูงกว่าพลังงานป้อนเข้าเป็นครั้งแรกของโลก

13 ธันวาคม 2565

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ แถลงความสำเร็จในการผลิตพลังงานฟิวชัน ได้สูงกว่าพลังงานป้อนเข้าเป็นครั้งแรกของโลก 


                  13 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา) กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้รายงานผลสำเร็จ การทดลองที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2565 ซึ่งการทดลองใช้ระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ โดยนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ Lawrence Rivermore ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันซึ่งสามารถนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาได้ในปริมาณที่มากกว่าพลังงานที่ใช้ในการสร้างปฏิกิริยา ซึ่งนักวิจัยจากกลุ่ม National Ignition Fusion ได้ใช้ ลำแสงเลเซอร์ 192 ลำ ขนาด 2.05 เมกะจูล ให้ความร้อนแก่เม็ดเชื้อเพลิงขนาดเล็กมาก ที่บรรจุอยู่กระบอกทองคำ ขนาดเล็ก จนสามารถทำให้ดิวทีเรียมและตริเตรียมที่อยู่ในเม็ดเชื้อเพลิงรวมกันจนเกิดปฏิกิริยาฟิวชัน พร้อมปลดปล่อยพลังงานฟิวชันออกมา 3.12 เมกะจูล มากกว่าพลังงานป้อนเข้า 1.5 เท่า นับเป็นครั้งแรกที่พลังงานฟิวชันที่ผลิต สูงกว่าพลังงานป้อนเข้า ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก


                  ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเกิดขึ้นตามธรรมชาติในใจกลางของดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์อื่นๆ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา ทีมนักวิทยาศาสตร์ต่างก็พยายามจะลอกเลียนการสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันขึ้นบนโลกโดยหวังจะให้เป็นแหล่งพลังงานที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าทั้งสะอาด ดีต่อสิ่งแวดล้อมและมีราคาประหยัด เนื่องจากสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปริมาณมหาศาลความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ก้าวข้ามความสงสัยและยุติการรอคอยและตอบความคาดหวังของสังคมว่าเมื่อไหร่เทคโนโลยีฟิวชันที่ได้จะสูงมากพอ ที่จะเลย จุดคุ้มทุนด้านพลังงาน และให้ความหวังที่จะเป็นแหล่งพลังงานสะอาด ลดภาวะโลกร้อน เป็นแหล่งพลังงานที่จะใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และตามข้อมูลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่าไฟฟ้าที่ได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันถึง 4 เท่า และมากกว่าไฟฟ้าที่ได้จากการผลิตด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงและถ่านหินถึง 4 ล้านเท่า นอกจากนี้ ยังไม่มีของเสียจากกระบวนการผลิตเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือกากกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นจากปฏิกริยานิวเคลียร์


              การประกาศความสำเร็จในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการมุ่งหน้าสู่พลังงานไฟฟ้าจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ในการทดลองครั้งนี้ กระทรวงพลังงานสหรัฐใช้ทริเทียมหรือไอโซโทปชนิดหนึ่งของอะตอมไฮโดรเจนซึ่งหาได้ยากมากในการทดลอง เท่ากับว่าการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถนำปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้นั้น ยังจะต้องดำเนินการต่อไปสำหรับประเทศไทย โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยร่วมมือพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน หรือ โทคาแมค ร่วมกับ สถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงเตรียมการติดตั้งที่ประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม 2566 และคาดว่าจะเริ่มทดลองเดินเครื่องได้ในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน


ขอบคุณภาพจาก

www.llnl.gov/news